Wednesday, August 5, 2009

อาการท้องร่วง

ท้องร่วง ท้องเดิน ท้องเสีย หรือลงท้องคือ มีการถ่ายอุจจาระที่มีจำนวนมากกว่าปกติตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากหรือเป็นมูกเลือด แม้เพียง 1 ครั้งต่อวัน


แบ่งอาการท้องร่วงได้ 2 ชนิด
1. อาการท้องร่วงอย่างเฉียบพลัน หมายถึง อาการท้องร่วงที่เป็นทันทีทันใด แต่เป็นระยะสั้นๆ ไม่เกินสองสัปดาห์
2. อาการท้องร่วงชนิดเรื้อรัง หมายถึง อาการท้องร่วงที่เป็นติดต่อกันนานกว่าสองสัปดาห์และ
บางรายอาจเป็นเดือนหรือหลายเดือนติดต่อกัน หรือมีอาการเป็นพักๆ

อาการแสดงของโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงมีได้กว้างขวางมากมายตามสาเหตุของโรคแต่เราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. ท้องร่วงจากการติดเชื้อ ทั้งจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย จะมีลักษณะอาการและลักษณะอุจจาระที่ออกมาแตกต่างกันที่น่ารับรู้และให้สังเกตไว้ ได้แก่ อหิวาตกโรค จะมีลักษณะอุจจาระคล้ายน้ำซาวข้าว ผู้ป่วยจะมีการอาเจียน อ่อนเพลีย และซึมร่วมด้วย ท้องร่วงจากเชื้อบิดมักจะถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดร่วมกับมีอาการอาเจียน มีไข้สูง อ่อนเพลีย
2. ท้องร่วงชนิดไม่มีการติดเชื้อ โรคที่พบได้บ่อยในบ้านเรา ได้แก่ การขาดเอ็นไซม์แลคเตส ที่ทำการย่อยน้ำตาลนม จากการศึกษาเรื่องแลคเตสในเยื่อบุของเซลล์ลำไส้ของคนไทยพบว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ขาดเอ็นไซม์ตัวนี้ อาการของผู้ป่วยโรคนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ดื่มนมสดไปแล้วประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมง คือ รู้สึกโครกครากในท้อง ปวดท้องแบบปวดบิดๆ และมีอาการท้องร่วงเป็นน้ำ 1-2 ครั้งแล้วจึงค่อยหายไป
การป้องกันการเกิดโรคท้องร่วง

1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ

2. ล้างผักผลไม้ให้สะอาด โดยล้างผ่านน้ำหลายๆครั้ง หรือแช่ในน้ำเกลือ หรือแช่ในน้ำละลายด่างทับทิม หรือน้ำผสมเบกกิ้งโซดา

3. ล้างภาชนะให้สะอาดทุกครั้ง เช่น เขียง มีด ช้อน ส้อม ถ้วย จาน แก้วน้ำ และควรใช้ช้อนกลางทุกครั้งในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

4. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆและผ่านการปรุงที่ถูกต้องปลอดภัย ถ้าจำเป็นต้องนำมารับประทานอีก ควรทำให้ร้อนจึงจะปลอดภัย โดยมีวิธีสังเกตง่ายๆคือ ถ้าน้ำเดือดปุดๆคืออุณหภูมิถึง 100 องศาเซลเซียส

5. ไม่ควรรับประทานอาหารที่ปรุงทิ้งไว้ เพราะอาหารอาจบูดเน่าก่อนที่เราจะนำมารับประทาน

6. ลวกหอยแครงให้ถูกต้อง โดยลวกในน้ำเดือดอย่างน้อย 1-2 นาทีจึงจะมั่นใจในการรับประทานว่า อร่อยอย่างปลอดภัย ซึ่งจะฆ่าเชื้อโรคและคงรสชาติไว้ได้อีกด้วย

7. ควรต้มน้ำให้สุกทุกครั้งก่อนนำมาดื่ม โดยเฉพาะน้ำที่กดจากตู้กดทั่วไปเพราะอาจจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคได้

8. ควรเลือกวัตถุดิบที่ถูกสุขลักษณะ เลือกผักผลไม้ที่สดและสะอาด ใช้เวลาในการเลือกให้พิถีพิถันขึ้นเพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพดีที่สุด

9. ต้องแยกอาหารที่เป็นวัตถุดิบและอาหารที่ปรุงสุกแล้ว เพราะเนื้อสัตว์ดิบอาจจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียมา อาหารที่ปรุงสุกควรใส่ภาชนะที่ปิดสนิท ไม่ควรวางปะปนกัน

10. เก็บอาหารไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีคือ 5-60 องศาเซลเซียส ถ้าต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียสเชื้อโรคจะไม่เจริญเติบโตแต่ไม่ตาย จึงควรอุ่นอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็นก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง
การรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคท้องร่วง

1. ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส สูตรขององค์การเภสัชกรรมหรือองค์การอนามัยโลก ให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ในปริมาณที่เท่ากับปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกมาในแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่

หากผู้ป่วยเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรให้ดื่มครั้งละ 1/4-1/2 แก้ว โดยใช้ช้อนค่อยๆป้อนที่ละ 1 ช้อนชา ทุก 1-2 นาที ไม่ควรให้ดูดจากขวดนมเพราะเด็กจะดูดกินอย่างรวดเร็วเนื่องจากกระหายน้ำ ซึ่งจะทำให้ร่างกายดูดซึมไม่ทันและอาจทำให้อาเจียนและถ่ายมาก แต่ไม่จำเป็นต้องอดอาหารหรือนม ควรให้อาหารเหลวบ่อยครั้ง เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด และนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม อาจผสมนมให้เข้มข้นเหมือนเดิมแต่ลดปริมาณลง และให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่

หากผู้ป่วยเป็นเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ควรให้ดื่มครั้งละ 1/2-1 แก้ว ให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นจึงให้หยุดดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ซึ่งจะทำให้ลำไส้ฟื้นตัวเร็ว

Tip ถ้าไม่มีสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ สามารถทำเองได้ดังนี้
ผสม น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ใส่ลงในแก้ว คนให้ละลายและเข้ากันดี ถ้าดื่มไม่หมดภายใน 24 ชั่วโมงให้ทิ้งไป แล้วผสมใหม่

2. หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เช่น ถ่ายหรืออาเจียนไม่หยุดมากกว่า 4 ครั้ง หิวน้ำตลอดเวลา หรือปัสสาวะไม่ออกเนื่องจากขาดน้ำมาก หน้ามืด ช็อกหรือหมดสติ มีไข้ ปวดท้องรุนแรง หรือเวลาถ่ายจะรู้สึกปวดเบ่งตลอดเวลาเนื่องจากเป็นอาการของบิด

3. ขับถ่ายในสุขภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือให้สะอาดเสมอทุกครั้งหลังจากการขับถ่ายด้วยน้ำและสบู่ เนื่องจากอหิวาตกโรคเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและแพร่ระบาดได้อีกด้วย

4. กำจัดอาเจียนของผู้ป่วย โดยเททิ้งลงโถส้วม ราดน้ำให้สะอาด แล้วราดตามด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำหรือน้ำยาซักผ้าขาวก็ได้

5. สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยรักษาให้สะอาดเสมอ ซึ่งรวมถึงเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ทำการซักให้สะอาดและนำออกตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วย

6. ผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยควรหมั่นล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อปนเปื้อนจากมือสู่อาหารและเกิดการติดโรคได้
ข้อห้ามเมื่อมีอาการท้องร่วง

1. ห้ามรับประทานยาฆ่าเชื้อ เพราะท้องร่วงเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งมียารักษา แต่ยังไม่มียาฆ่าเชื้อถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้นการกินยาฆ่าเชื้อซึ่งฆ่าได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรียก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้และอาจทำให้เชื้อดื้อยาได้

2. ห้ามรับประทานยาหยุดถ่าย การขับถ่ายเป็นขบวณการขับของเสียออกจากร่างกาย หากรับประทานยาหยุดถ่ายจะทำให้ลำไส้ทำงานน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีขึ้น