Wednesday, August 5, 2009

การรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคท้องร่วง

1. ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส สูตรขององค์การเภสัชกรรมหรือองค์การอนามัยโลก ให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ในปริมาณที่เท่ากับปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกมาในแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่

หากผู้ป่วยเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรให้ดื่มครั้งละ 1/4-1/2 แก้ว โดยใช้ช้อนค่อยๆป้อนที่ละ 1 ช้อนชา ทุก 1-2 นาที ไม่ควรให้ดูดจากขวดนมเพราะเด็กจะดูดกินอย่างรวดเร็วเนื่องจากกระหายน้ำ ซึ่งจะทำให้ร่างกายดูดซึมไม่ทันและอาจทำให้อาเจียนและถ่ายมาก แต่ไม่จำเป็นต้องอดอาหารหรือนม ควรให้อาหารเหลวบ่อยครั้ง เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด และนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม อาจผสมนมให้เข้มข้นเหมือนเดิมแต่ลดปริมาณลง และให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่

หากผู้ป่วยเป็นเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ควรให้ดื่มครั้งละ 1/2-1 แก้ว ให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นจึงให้หยุดดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ซึ่งจะทำให้ลำไส้ฟื้นตัวเร็ว

Tip ถ้าไม่มีสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ สามารถทำเองได้ดังนี้
ผสม น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ใส่ลงในแก้ว คนให้ละลายและเข้ากันดี ถ้าดื่มไม่หมดภายใน 24 ชั่วโมงให้ทิ้งไป แล้วผสมใหม่

2. หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เช่น ถ่ายหรืออาเจียนไม่หยุดมากกว่า 4 ครั้ง หิวน้ำตลอดเวลา หรือปัสสาวะไม่ออกเนื่องจากขาดน้ำมาก หน้ามืด ช็อกหรือหมดสติ มีไข้ ปวดท้องรุนแรง หรือเวลาถ่ายจะรู้สึกปวดเบ่งตลอดเวลาเนื่องจากเป็นอาการของบิด

3. ขับถ่ายในสุขภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือให้สะอาดเสมอทุกครั้งหลังจากการขับถ่ายด้วยน้ำและสบู่ เนื่องจากอหิวาตกโรคเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและแพร่ระบาดได้อีกด้วย

4. กำจัดอาเจียนของผู้ป่วย โดยเททิ้งลงโถส้วม ราดน้ำให้สะอาด แล้วราดตามด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำหรือน้ำยาซักผ้าขาวก็ได้

5. สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยรักษาให้สะอาดเสมอ ซึ่งรวมถึงเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ทำการซักให้สะอาดและนำออกตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วย

6. ผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยควรหมั่นล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อปนเปื้อนจากมือสู่อาหารและเกิดการติดโรคได้